ประวัติความเป็นมา

คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นคณะที่จัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาตร์สุขภาพ ด้านการศึกษาวิจัยสาเหตุ ปัจจัยกลไกการก่อโรค การดำเนินโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัด และการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยและประชากร ในอดีต เมื่อปีพุทธศักราช 2525 ขณะที่มหาวิทยาลัยบูรพามีสถานะเป็นวิทยาเขตบางแสน มหาวิทยาลัยศร๊นครินทรวิโรฒ มีการก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้น และได้ตัดโอนอาจารย์จากภาควิชาสุขศึกษา คณะพละศึกษา และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จัดตั้งเป็นภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานการพยาบาล อยู่ในสังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์เยาวลักษณ์ บรรจงปรุ (หัวหน้าภาควิชา) และอาจารย์วิโรจน์ อรุณนพรัตน์ เป็นอาจารย์รุ่นแรกของภาควิชาฯและได้ร่วมกันพัฒนาภาควิชาให้เจริญก้าวหน้าจนมีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับหลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2539 อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข กุลวณิชย์ โดยอาจารย์วิรัช คารวะวิทยากุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์อำนวย ไวยมุข หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานวิชาชีพ คณะพยาบาลศาสตร์ มีดำริในการผลิตบัณฑิตแพทยศาสตร์แนวใหม่จากหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ดำเนินการรวมภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานวิชาชีพ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นภาควิชา วิทยาศาสตร์การแพทย์และโอนคณาจารย์ไปสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์อำนวย ไวยมุข อาจารย์วิโรจน์ อรุณนพรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพชรรัตน์ ตรงต่อศักดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จันทรวรรณ แสงแข ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประเสริฐ มีรัตน์ อาจารย์อาดูลย์ มีพูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกวรรณ กู้ตระกูล อาจารย์ดวงฤดี เชิดวงศ์เจริญสุข และอาจารย์จิรสุดา นาคเอี่ยม โดยมี อาจารย์วนิดา โอฬารกิจอนันต์ เป็นหัวหน้าภาควิชา

  • ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน 115,000,000 บาท ตั้งแต่ปี 2539 แล้วเสร็จในปี 2541 และระหว่างนั้นได้ส่งอาจารย์ในภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกลับมาจัดการเรียนการสอนรายวิชาปรีคลินิกของหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ของหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยฯมีแผนให้นิสิตที่มีผลการเรียนดี สามารถเลือกศึกษาต่อหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตได้ แต่ในขณะนั้นมีอุปสรรคในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ บัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงไม่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ศึกษาต่อ ซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ผ่านมา ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ผลิตบัณฑิต วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) 10 รุ่น จำนวน 251 คน ออกไปรับใช้สังคม ต่อมาในปีการศึกษา 2552 ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาหลักสูตรชีวเวชศาสตร์ขึ้น และปิดหลักสูตรพร้อมทั้งหยุดรับนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นมา

  • ปัจจุบัน ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการยกฐานะเป็น คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตามมติกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2552 ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552 นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพาลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่องการจัดตั้งส่วนงาน คณะสหเวชศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (คณะกรรมการบริหารคณะสหเวชศาสตร์จึงมีมติให้เป็น วันสถาปนา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 3 ปีพุทธศักราช 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 103ง เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานและภาระหน้าที่ของส่วนงาน มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 มีหน้าที่ในการดำเนินงานจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีอาจารย์ประจำ 15 คน สายสนับสนุนวิชาการ 4 คน นิสิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 132 คน และให้ตัดโอนอาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมครุภัณฑ์ประกอบอาคารจาก คณะวิทยาศาสตร์ ให้แก่ คณะสหเวชศาสตร์

  • อนึ่งการจัดตั้งคณะวิชาที่เป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพให้ครอบคลุมทุกสาขานั้น เป็นเป้าหมายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่ง มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันออก ที่มีศักยภาพและความพร้อมสูงในการรองรับการผลิตบัณฑิตกลุ่มสาขาวิชาสหเวชศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยบูรพา มีประสบการณ์ โครงสร้าง และปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินการ การบริหารจัดการการศึกษา และการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายสาขามามากกว่า 20 ปี และได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การแยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อปีพุทธศักราช 2533 เป็นต้นมา กล่าวคือ มีการการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร และคณะแพทยศาสตร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยบูรพาจึงมีศักยภาพและความพร้อมที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้ครอบคลุมทุกสาขา จึงได้จัดตั้ง คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มสาขาวิชาสนับสนุนทางการแพทย์ ให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรและประเทศชาติในระยะยาว สหเวชศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ประกอบด้วยสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ ชีวเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ พยาธิวิทยากายวิภาค วิทยาการสูงอายุ เวชศาสตร์นิวเคลีย รังสีเทคนิค เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชศาสตร์ทางทะเลและอากาศยาน เวชศาสตร์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน กิจกรรมบำบัด อาชีวเวชศาสตร์ โภชนบำบัด นิติวิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม การบริหารธุรกิจสุขภาพ เวชศาสตร์หัวใจและทรวงอก เวชศาสตร์มะเร็ง เวชศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ เวชศาสตร์การระงับความรู้สึก เป็นต้น ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ เป็นศาสตร์ที่ผลิตกำลังคนสายสนับสนุนทางการแพทย์ เพื่อไปปฏิบัติงานร่วมในทีมสุขภาพ ทั้งในสถานบริการสุขภาพภาคเอกชนและภาครัฐ ได้แก่ สถานีอนามัยหรือศูนย์การแพทย์ชุมชน (primary care unit; PCU) หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ หน่วยบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ หน่วยบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่ยังขาดแคลนบุคลากรและเป็นที่ต้องการสูงในปัจจุบัน และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ในภูมิภาคตะวันออกยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาใดเป็นฐานการผลิตบัณฑิตในสาขาสหเวชศาสตร์ ดังกล่าว